language Amazing Thailand
คายัค แคนู

คนไทยมีความคุ้นเคยกับถ้ำมาตั้งแต่โบราณด้วยการดำเนินชีวิตของคนไทย ส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ถ้ำเคยถูกใช้เป็น ที่อยู่อาศัยของคน หรือ “มนุษย์ถ้ำ” ตลอดจนใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของผู้คน จวบจนปัจจุบัน ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของถ้ำที่ไม่เหมือนใคร กอปรกับตำนานแห่งความเชื่อเรื่องความลี้ลับ เกี่ยวกับถ้ำ ทำให้ถ้ำได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมนต์เสน่ห์ และท้าทายความกระหายใคร่รู้ของนักท่องเที่ยว ที่ชอบผจญภัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กิจกรรมสำรวจและเที่ยวถ้ำ เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสในการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของถ้ำ เช่น กระบวนการเกิดถ้ำ ลักษณะของหิน / แร่สัณฐานธรณี ประเภทของถ้ำ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในถ้ำ และการดูแลรักษาถ้ำ ฯลฯ นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังได้รับความเพลิดเพลินและตื่นตากับความงามแปลกเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของถ้ำอีกด้วย

การเที่ยวถ้ำ โดยเฉพาะถ้ำที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอและเป็นถ้ำที่ลึกและวกวน จำเป็นต้องมีมัคคุเทศก์นำทางเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ในประเทศไทยจะพบถ้ำเพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ ถ้ำหินปูนและ ถ้ำโพรงหินชายฝั่ง ส่วนอีก 2 ประเภทที่ไม่พบในประเทศไทย คือ ถ้ำน้ำแข็งและถ้ำลาวา

ถ้ำเกิดได้อย่างไร

การเคลื่อนที่ของเปลือกโลกจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของชั้นหิน เช่น เกิดการยกตัวและรอยแตกของชั้นหิน หรือบางส่วนจะเกิดเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ ทำให้หินแตกหักเกิดเป็นช่องว่าง หรือ ที่เรียกว่า “โพรงถ้ำ” นอกจากนี้ภายในถ้ำมักมีหินรูปร่างแปลกๆ ซึ่งเกิดจาก การที่น้ำฝนซึมผ่านชั้นดิน ซากพืช ซากสัตว์ ทำให้น้ำฝนมีสภาพเป็นกรด คาร์บอนิกอย่างอ่อนๆ เมื่อซึมมาจนถึงชั้นหินปูนหรือซึมผ่านรอยแตกในหินปูน น้ำกรดจะละลายเนื้อหินปูนออกเรื่อยๆ จนกลายเป็นโพรงถ้ำ และเมื่อมีความเข้มข้นมากๆพร้อมกับเกิดตกผลึกของแร่แคลไซต์ใหม่อีกครั้ง ก็จะเกิดเป็นหินงอก หรือ หินย้อย โดยถ้าน้ำที่มีสารหินปูนละลายอยู่ ไหลหรือหยดมาตามเพดานถ้ำและตกผลึกใหม่ก็จะเกิดเป็น “หินย้อย” ส่วนน้ำที่หยดจากเพดานถ้ำลงสู่พื้นก็จะตกผลึกพอกตัวสูงขึ้นจนกลายเป็น “หินงอก”

อันตรายที่มองไม่เห็น

สำหรับการสำรวจถ้ำที่ลึก หรือถ้ำที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน การสังเกตการไหลเวียนของอากาศในถ้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะหากร่างกายรับ “อากาศที่มีคาร์บอนไดออกไซด์เจือปนเกิน 5.5%” จะเกิดอาการหายใจติดขัดสมองจะมึนงงและหมดสติหลังจากนั้นจะ เสียชีวิตภายในไม่กี่นาที ซึ่งการตรวจสอบอากาศที่ปลอดภัยที่สุด จะใช้ อุปกรณ์อิเลคทรอนิคสำหรับบอกระดับคาร์บอนไดออกไซด์จะส่งเสียงเตือน เมื่อถึงระดับอันตราย หรืออาจจะใช้อาการผิดปรกติของร่างกายเป็นตัววัด แต่คุณจะต้องเคยมีประสบการณ์จึงสามารถบอกได้ “ความเย็นในถ้ำ” ถือว่าเป็นอันตรายรองลงมา ตามปรกติน้ำในถ้ำจะมี ความเย็นมากกว่าน้ำที่อยู่ภายนอกถ้ำ การแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานทำให้ เสี่ยงต่อการเกิดอาการตัวสั่น เดินช้า ปล่อยของหลุดจากมือ กล้ามเนื้อ ไม่ค่อยเคลื่อนไหว พูดไม่สะดวก มองเห็นไม่ชัดเจน จิตใจไม่อยู่กับร่องกับรอย อาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการสูญเสียความร้อนในร่างกาย หรือที่เรียกว่า “ไฮโปเทอร์เมีย” หากอุณหภูมิในร่างกายลดลง 5-6 องศาจะทำให้หมดสติ และเสียชีวิตได้ ดังนั้นการเตรียมชุดเสื้อผ้าและอุปกรณ์จึงมีความจำเป็นต้องเป็นชุดที่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้ในระดับหนึ่ง

ad

ข้อควรปฎิบัติในการสำรวจถ้ำ

การสำรวจถ้ำทุกครั้งของนักสำรวจถ้ำทั่วทุกมุมโลกจะยึดถือในกฏเกณฑ์การสำรวจเดียวกันเพื่อป้องกันอันตรายจากการท่องเที่ยวหรือการสำรวจถ้ำไม่ว่า จะเป็นนักสำรวจถ้ำมืออาชีพ มือสมัครเล่น หรือ นักท่องเที่ยว

เส้นทางการสำรวจถ้ำ

  แหล่ง จังหวัด ฤดูท่องเที่ยว ประเภทถ้ำ
50 ถ้ำน้ำลอด
แม่ฮ่องสอน ตลอดทั้งปี ถ้ำหินปูน
51 หุบป่าตาด อุทัยธานี ตลอดทั้งปี ถ้ำหินปูน
52 ถ้ำธารลอด กาญจนบุรี ตลอดทั้งปี ถ้ำหินปูน
53 ถ้ำนกนางแอ่น กาญจนบุรี มี.ค. - พ.ค. ถ้ำหินปูน
54 ถ้ำเสาหิน กาญจนบุรี มี.ค. - พ.ค. ถ้ำหินปูน
55 ถ้ำน้ำลอดทิพุเชะ กาญจนบุรี ต.ค. - มิ.ย. ถ้ำหินปูน
56 ถ้ำละว้า กาญจนบุรี ตลอดทั้งปี
ถ้ำหินปูน
57 ถ้ำเลเขากอบ ตรัง ตลอดทั้งปี
ถ้ำหินปูน
58 ถ้ำมรกต ตรัง ตลอดทั้งปี โพรงหินชายฝั่ง
59 ถ้ำเจ็ดคต สตูล ตลอดทั้งปี ถ้ำหินปูน