ล่องเรือตะลุยสามพันโบก สุดยอดแห่งปรากฎการณ์ธรรมชาติ
แก่งหินสามพันโบก
ข้อมูลท่องเที่ยว
จากตัวเมืองอุบลราชธานี ใช้ทางหลวง 2050 สายตระการพืชผล-โพธิ์ไทร ระยะทาง 120 กม.
ตำแหน่ง GPS
N15° 47.416’, E105° 24.653’
ติดต่อ
องค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร
0 4533 8057, 0 4533 8015
ชมรมเรือหาดสลึง
09 0816 1220
สิ่งอำนวยความสะดวก
เรือบริการนำเที่ยว ร้านอาหาร และที่จอดรถ
พลังแห่งธรรมชาติบางครั้งก็อัศจรรย์เหนือคำบรรยาย สายน้ำอันเชี่ยวกรากได้พัดพาก้อนกรวด หิน ทราย และเศษไม้ หมุนวน กัดเซาะขัดแก่งหินทรายให้เกิดเป็นหลุมแอ่ง มีขนาดเล็กๆ จนถึงขนาดใหญ่จำนวนมากกว่า 3,000 แอ่ง เกิดเป็นความงดงามอันวิจิตรใต้ลำน้ำโขง จนกลายเป็นงานศิลปะกลางลำน้ำ บ้างก็เป็นรูปสัตว์ รูปหัวใจ รูปดาว ซึ่งจะปรากฏโผล่พ้นน้ำอวดความแข็งแกร่งแปลกตาให้เห็นเฉพาะฤดูแล้งประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายน (โบก ในภาษาลาว แปลว่า แอ่ง) จึงเป็นที่มาให้สถานที่แห่งนี้ถูกขนานนามว่า “สามพันโบก” ซึ่งในบริเวณเดียวกัน มีสถานที่ที่เรียกว่า แกรนแคนยอนน้ำโขง เป็นผาหินบริเวณโค้งด้านหน้ารับแรงน้ำที่ไหลจากตอนบน จากการกัดเซาะของน้ำหลายพันปี เกิดประติมากรรมธรรมชาติที่น่าทึ่ง เป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ สูงประมาณ 3-7 เมตร กว้างประมาณ 20 เมตร
การเที่ยวชมสามพันโบกนั้น สามารถนั่งเรือชมวิวไปเรื่อยๆ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตรโดยเริ่มที่ “หาดสลึง” ซึ่งเป็นจุดลงเรือผ่าน “ปากบ้อง” บริเวณที่เป็นจุดที่แม่น้ำโขงถูกเทือกเขาเบียดจนเกิดเป็นลักษณะคอขวด ส่วนที่แคบที่สุดวัดได้กว้างเพียง 56 เมตร น่ามหัศจรรย์มาก ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ จะมีประเพณีตักปลาของชาวบ้านสองคอนด้วยการใช้สวิงชนาดยักษ์ด้ามยาวคอยตักปลาที่จะว่ายผ่านช่องแคบนี้ และจะผ่าน
“หินหัวพะเนียง” เป็นแก่งหินกลางแม่น้ำที่แยกแม่น้ำโขงออกเป็นสองสาย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสองคอน
ถัดมาจะเห็น “ผาหินศิลาเลข” ร่องรอยประวัติศาสตร์สมัยฝรั่งเศสปกครองแถบอินโดจีน มีสลักตัวเลขบนผาหินเพื่อบอกระดับน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อความปลอดกัยในการเดินเรือจักรกลไอน้ำขนส่งสินค้าระหว่างลาวกับไทย
ถัดไปจะเป็นหาดหงส์ ที่เกิดจากตะกอนทรายถูกน้ำพัดพามากองรวมทับถมกันจนเป็นเนินทรายขนาดใหญ่
รู้ก่อนเที่ยว
"ใช้เวลาเที่ยวประมาณ 3 ชม."
แนะนำ
"ถ้ามาช่วงก่อนพระอาทิตย์อัสดง จะได้ชมแสงเหลืองส้มอ่อน ๆ สะท้อนกับพื้นทรายสีขาวระยิบระยับสวยงามมาก ถัดจากนั้นก็เป็นสามพันโบกแล้ว ซึ่งหากไม่มีเวลามากนักสามารถขับรถถึงสามพันโบกได้เลย"
ประทับใจ
"ทิ้งขยะในที่ที่ทางอุทยานฯ เตรียมไว้ให้"